วันสารทไทย วันสารทเดือนสิบ ประวัติวันสารทไทย

Home / วันสำคัญ / วันสารทไทย วันสารทเดือนสิบ ประวัติวันสารทไทย

วันสารทไทย หรือสารทเดือนสิบ

 

วันสารทไทย 2559 ตรงกับวันที่

รู้กันหรือยัง! ว่าวันสารทไทย 2559 หรือ วันสารทเดือนสิบ ปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2559 เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะยังไม่เคยรู้จักวันสารทไทยมาก่อน เพราะปกติเราจะได้ยินกันแต่วันสารทจีน ซึ่งวันสารทไทยนั้นตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือเป็นเทศกาลทำบุญเดือนสิบของไทยเรานั่นเอง ประเพณีสำคัญของไทยทั้งที เรามาทำความรู้จัก และรู้ถึงความสำคัญของวันสารทไทยกันให้มากขึ้นดีกว่า…

 

วันสารทไทย

วันสารทไทย หรือสารทเดือนสิบ

 

ความหมายของวันสารทไทย

สารท มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ของทุกปี ซึ่งในวันสารท จะมีการนำพืชพรรณธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ “สารท” เป็นคำอินเดีย หมายถึง “ฤดู” ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อ

 

วันสารทของประเทศไทย

ตามความเชื่อของคนโบราณ เมื่อเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารในคราวแรกแล้ว พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวได้ในครั้งแรก จะนำไปบวงสรวง เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือจะช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับชีวิต และสวนไร่นาของตน เป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งจะอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนเริ่มย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

“ผลแรกได้” คือการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรก ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ อาจมีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ ซึ่งจะทำบุญวันสารทนี้ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งมีการถวายข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ของทุกปี

ศาสนาพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนี้มา ทำให้ประเทศไทยมีประเพณีการทำบุญวันสารทเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ประวัติวันสารทไทย

วันสารทไทยเป็นการทำบุญเพื่อส่งเสริมขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อให้พืชพันธุ์มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นไป การทำบุญวันสารทมิได้สำคัญว่ามาจากศาสนาใด เพราะพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนิยมทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจ มิได้ถือวันใดเป็นพิเศษ แต่การทำบุญสารท เป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว จึงถือโอกาสทำบุญทำทานให้เป็นของขวัญแก่ไร่นาของตน

บางแห่งเชื่อว่าวันสารทเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งก็เป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากว่างจากภารกิจไร่นาจึงถือโอกาสทำบุญครั้งใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ประเพณีสารทได้เปลี่ยนความเชื่อถือไปตามกาลเวลาและความเชื่อตามท้องถิ่นของตน วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ถูกกำหนดไว้เป็นวันสารทไทย ซึ่งเป็นพิธีของประชาชนในประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญ มีประเพณีทำบุญทำนองเดียวกันในภาคอื่น ๆ ด้วย และมีการกำหนดวันและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน

 

วันสารทไทยของภาคใต้

มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องและบุคคลอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้วในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติ ของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรก ดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้นจึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญ มากกว่า (บางท้องถิ่นทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10)

 

การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ

1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความ สัมพันธ์กับอินเดียเหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลาง ดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ
3. ประเพณีจัดห.ม.รับ (สำรับ) การยกห.ม.รับ และการชิงเปรต คำว่า  จัดห.ม.รับ  ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็น มื้อ ๆ การยก ห.ม.รับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัดพร้อมทั้งภัตตาหารไปถวาย พระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บาง แห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย  ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรต นั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ  กล่าวคือ  เมื่อจัดห.ม.รับ ยก ห.ม.รับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต  โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบ ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่  แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา  ขนมกง  ขนมดีซำ  และขนมบ้า สถานที่ตั้งอาหาร เป็นร้านสูง พอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา)  เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พบเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานเรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน  ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล  การทำบุญด้วย วิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้  บางครั้งเรียกว่า การฉลอง ห.ม.รับและบังสุกุล  ถือว่าสำคัญเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไป แล้วด้วย
4. ประเพณีทำบุญตายายหรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติ ว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่า ญาติที่ล่วงลับ ไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่าน กลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย

 

ประเพณีวันสารทไทย
ประเพณีวันสารทไทย

 

วันสารทไทยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน มีประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกัน  คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะ  ดังนี้

ระยะแรก  ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  ชาวบ้านจะเตรียม ข้าวเม่าพอง  และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหาร หวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 มาถึงโดย เฉพาะ ข้าวเม่าพองกับข้าวตอกนั้น จะคลุกให้เข้ากันแล้วใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา  มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก  ซึ่งตรงกับคนไทยภาคกลาง เรียกว่า กระยาสารท  เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย  ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูง  ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกล ก็จะไปค้างคืน  นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนถามทุกข์ สุขเป็นประเพณีที่เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา  ผลัดกันไปผลัดกันมาเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้น จะส่งก่อนวันทำบุญหรือใน วันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก

ระยะที่สอง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  เวลาเช้าชาวบ้านไป ทำบุญตักบาตรที่วัด  อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ก็ได้  ครั้นถึงเวลาใกล้เพลก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง  มีห่อข้าวน้อย  ห่อข้าวใหญ่  ข้าวสาก  และอาหารอื่นๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย  เมื่อถึงวัดแล้วก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูก ชื่อพระภิกษุรูปใด  ก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า  การทำบุญข้าวสาก  ก็คือทำบุญด้วยวิธี ถวายตามสลาก  ส่วนห่อข้าวน้อย  ห่อข้าวใหญ่  ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้น เมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว  ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้านเก็บไว้ในเวลาต่อไป  เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง  เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง  ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานานๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก  ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสากหรือ ถวายกระยาสารทเท่านั้น

สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทย ภาคกลางนั้นวิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตองกลัดด้วย ไม้กลัด หัวท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่ตรงปลายทั้งสองข้าง ที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อมีข้าวต้ม (ข้าว เหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก  แกงเนื้อ  แกงปลา  หมาก  พลู  บุหรี่ ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้  รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้ แล้วก็ตีกลองหรือโปง เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ ชั่วพักหนึ่งกะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้าน ก็แย่งกันชุลมุน ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต

ของที่แย่งเปรตไปได้นี้ ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยง ตาแฮก (ยักษินีหรือเทพารักษ์  รักษาไร่นาซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่ม ทำนาในเดือน 6 มาครั้งหนึ่งแล้ว)  นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กรับประทาน  เพราะถือว่าเด็กที่รับประทานแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

 

กิจกรรมในวันสารทไทย

ทำบุญตักบาตรวันสารทไทยเป็นประเพณีไทยที่แตกต่างจากประเพณีอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของการทำบุญตักบาตร ด้วยมีความเชื่อว่าการทำบุญวันสารทเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การตักบาตรจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ การตักบาตรที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่นได้แก่

ตักบาตรขนมกระยาสารท
ขนมกระยาสารทเป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งจะขาดเสียมิได้ด้วยมีความเชื่อที่ว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้

ตักบาตรน้ำผึ้ง
เป็นที่นิยมในบางท้องถิ่นเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มักเป็นชาวไทยมอญที่นิยมตักบาตรน้ำผึ้งประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้งเนืองจากมีเรื่องเล่าตามพุทธประวัติว่า “ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษา ณ ป่าปาริไลยก์ เพียงพระองค์เดียว แต่มีผู้ถวายอุปัฏฐากเป็นช้างปาริเยยกะ เป็นผู้คอยถวายน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และลิงเป็นผู้หาผลไม้มาถวาย วันหนึ่งลิงได้นำน้ำผึ้งมาถวาย การถวายน้ำผึ้งจึงเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ฟังธรรมเทศนา

ถือศีลภาวนา

ปล่อยนกปล่อยปลา

 

ผลที่ได้จากประเพณีวันสารทไทย

1. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ
2. ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นกาผูกมิตรไมตรีกันไว้
3. เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
4. เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
5. เป็นการบำรุงหรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป

 

ขอบคุณข้อมูลแหล่งที่มา : http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4525.html,http://www.myhora.com/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%99/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.aspx

ขอบคุณรูปภาพ : http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4194d,http://blogs.ummthailand.com/?p=12936