14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก

Home / วันสำคัญ / 14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก

วันผู้บริจาคโลหิตโลก

 

วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันระลึกถึง คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) ชาวออสเตรีย เขาเป็นผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบเอบีโอครั้งแรก และยังเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก

วันผู้บริจาคโลหิตโลก

วันผู้บริจาคโลหิตโลก

 

กิจกรรมในวันผู้บริจาคโลหิตโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO), สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และองค์กรด้านงานบริการโลหิต  ได้เชิญชวนให้กาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อขอบคุณผู้บริจาคโลหิตในปี 2559 สภากาชาดไทย จัดงานวันผู้บริจาคโลหิตโลก 2559 เป็นปีที่ 13 ภายใต้ Slogan คือ “Sharelife,give blood- ให้โลหิต ให้ชีวิต” ในวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2559  เวลา 08.00-16.00 น. ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

นอกจากจะเป็นการขอบคุณผู้บริจาคโลหิตแล้ว ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิตเป็นประจำทุก 3 เดือน  ซึ่งจะส่งผลทำให้มีปริมาณโลหิตสำรองที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ และเป็นการบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกให้ได้ 100 % ภายในปี ค.ศ.2020 นอกจากนี้ยังเชิญชวนร่วมสร้างกระแสบริจาคโลหิตผ่าน Social mediaโพสต์ข้อความเชิญชวนบริจาคโลหิต  ติด Hashtag  #‎sharelifegiveblood และโพสต์ลง IG หรือ Facebook

 

วันบริจาคโลหิตโลก

วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)

 

 

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต
-เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
-อายุ 18 – 60 ปี
-น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
-ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ฮอร์โมนเพศ
-ไม่มีประวัติเป็นโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
-ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใด ๆ ตามร่างกาย
-ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

 

ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
-ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก
-ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง(สามีหรือภรรยา)เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอสไอวีหรือซิฟิลิส
-ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา
-ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย
-น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ

 

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต เพื่อมิให้ผู้บริจาคโลหิตอ่อนเพลียมากหลังบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจึงควรเตรียมตัวดังนี้
-ก่อนบริจาคโลหิต 1–2 วัน ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี
-งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
-ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน
-รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตประมาณ 4 ชั่วโมง
-นอนหลับพักผ่อนเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมง

 

การปฎิบัติตัวหลังบริจาคโลหิต
-หลังการบริจาคโลหิตเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้วแล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง
-งดสูบบุหรี่หลังบริจาคโลหิตอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และถ้าจะดื่มผู้บริจาคโลหิตควรรับประทานอาหารให้มากพอก่อนดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดสภากาชาดไทย