ป้องกันก่อนถูก ฟ้าผ่า เรื่องง่าย ๆ ไม่ควรมองข้าม

Home / สกูปอื่นๆ / ป้องกันก่อนถูก ฟ้าผ่า เรื่องง่าย ๆ ไม่ควรมองข้าม

199996_99654

ฤดูฝนเวียนผ่านเข้ามาอีกหน ดูเหมือนปีนี้ ฟ้าแรงเอาเรื่อง?เพราะแค่เริ่มต้นฤดู ฟ้าก็ผ่าคร่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วหลายคน ทำเอาพวกที่ชอบสาบานหนาว ๆ ร้อน ๆ กันเป็นแถว และเกิด คำถามมากมายถึง สื่อล่อฟ้า อย่าง ตะกรุด โทรศัพท์มือถือ ว่าผู้ที่มีไว้ครอบครองเสี่ยงต่อการ ถูกฟ้าผ่าหรือไม่

จากอดีตที่ผ่านมาปรากฏการณ์ฟ้าผ่าก่อให้เกิดความเชื่อมากมาย เช่น โลกตะวันตกกล่าวถึงสายฟ้าคือ อาวุธของเทพซีอุส (Zeus) อันเป็นเจ้าแห่งเทพ ทั้งหมด ส่วนคนไทยมีเรื่องเล่าของยักษ์รามสูรและนางเมขลา ซึ่งนอกจากเรื่องเล่ามากมายแล้ว ฟ้าผ่า ยังส่งผลให้เกิดความ สูญเสียทรัพย์สินและชีวิตอีกด้วย

อ.คมสัน เพ็ชรรักษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสื่อล่อฟ้าที่ทำให้คนได้รับผลกระทบว่า หากมองถึงวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์คือ วัตถุที่อยู่เหนือศีรษะขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของเหล่านั้นมีลักษณะปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลมซึ่งเป็นตัวล่อให้ฟ้าผ่าได้เป็นอย่างดี หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง

อย่างการที่ฟ้าผ่ามาบนตึกส่วนใหญ่สังเกตได้ว่า มักผ่าบริเวณส่วนที่เป็นมุมของตึก ซึ่งเสมือนสิ่งที่ล่อฟ้าผ่าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหาก คนที่อยู่บนตึกสูงไม่ควรขึ้นไปยืนบนดาดฟ้าในเวลาฝนตกเพราะอาจทำให้เกิด อันตรายได้

199996_99655

จากข่าวการเสียชีวิตของผู้สวมตะกรุดและผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ อ.คมสัน มองว่า ไม่น่าจะมีส่วนทำให้ฟ้าผ่าบุคคลดังกล่าวเพราะปกติสายฟ้าที่ผ่าลงมายังคนมัก เกิดจากวัตถุที่อยู่เหนือศีรษะ ซึ่งการไปหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่หรือใต้เสาไฟฟ้าในที่โล่งอาจเป็นต้นเหตุที่ทำ ให้เสียชีวิต ขณะเดียวกันการใช้โทรศัพท์มือถือค่อนข้างมีความเป็นไปได้น้อยในการเป็นสื่อ ล่อฟ้า เนื่องจากมีคลื่นความถี่ต่ำ แต่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเวลา ฝนตกอาจได้รับอันตรายจากแบตเตอรี่ระเบิด เพราะเมื่อน้ำฝนเข้าไปยังขั้วแบตจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้นจากการศึกษาโลหะต่าง ๆ ไม่อาจเป็นวัตถุล่อฟ้าได้หากไม่อยู่เหนือศีรษะมนุษย์

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนส่วนใหญ่ที่ถูกฟ้าผ่ามักมีร่างกายที่เปียกเพราะการถูกฟ้าผ่าผู้ที่ได้รับ อันตรายมีผลเหมือนการถูกไฟฟ้าช็อต ดังนั้นการที่ร่างกายเปียก ก็เป็นอีกตัวกระตุ้นให้กระแสไฟจากฟ้าผ่าคร่าชีวิตได้

ด้านแนวทางป้องกันเพื่อให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่า อ.คมสัน กล่าวว่า ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใต้วัตถุที่มีความสูงในที่โล่ง เช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น แต่หากหาที่กำบังมั่นคงไม่ได้ควรทำตัวให้ต่ำที่สุดโดยการนั่งยอง ๆ เก็บแขนและมือไว้บนตัก ไม่ควรหมอบหรือนอนราบไปกับพื้นเพราะหากฟ้าผ่ามาบริเวณใกล้เคียงน้ำบนพื้นอาจ เป็นตัวนำกระแสไฟทำอันตรายได้

ส่วนอีกกรณีคือ การที่คนนั้นสวมใส่โลหะต่าง ๆ แล้วเกิดฟ้าผ่าบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้โลหะที่สวมอยู่หลอมละลายอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น ที่ผ่านมามีผู้เคราะห์ร้ายสวมใส่ทองยืนอยู่บริเวณป้ายรถเมล์แล้วเกิดฟ้าผ่า บริเวณใกล้เคียง รัศมีความร้อนของสายฟ้าทำให้สร้อยทองที่สวมอยู่หลอมละลาย พอตรวจชันสูตรศพดูแล้วพบว่า เหตุจากการเสียชีวิตเกิดจากการได้รับความร้อนจากวัตถุบริเวณต้นคอ
พื้นที่เสี่ยงต่อการโดนฟ้าผ่าส่วนใหญ่เกิดบริเวณบนภูเขาสูง ที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมมาก และในกระท่อมซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานที่โล่งแจ้ง บริเวณเหล่านี้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความ เสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

199996_99656

อ.คมสัน กล่าวถึงการสังเกตฟ้าผ่าที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ว่า ฟ้าผ่า เกิดจากสายฟ้าที่วิ่งอยู่ในก้อนเมฆมีทั้งประจุ บวกและลบแลบออกมาเพื่อหาวัตถุเหนี่ยวนำบนพื้นโลก ซึ่ง ทำให้เกิดฟ้าผ่า สามารถแยกปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ด้วยลักษณะดังนี้ 1.ฟ้าผ่าขึ้น สังเกตจากเส้นสายฟ้าที่ผ่าลงมามีลักษณะผ่าจากล่างขึ้นไปบน ส่วนใหญ่เกิดจากตึกที่มีขนาดสูง 2.ฟ้าผ่าจากบนลงล่าง ซึ่ง 80% มักเกิดในรูปแบบนี้ และมีอันตรายต่อมนุษย์ สามารถสังเกตจากเส้นฟ้าผ่า มีลักษณะจากบนลงมาล่าง ขณะเดียวกันหากเห็นกลุ่มก้อนเมฆ กำลังเคลื่อนตัวมายังบริเวณที่ ยืนอยู่ควรรีบหาที่กำบังเพราะเป็นอีกสัญญาณอันตราย



อานุภาพของฟ้าผ่ามีกระแสไฟฟ้าที่สูง เทียบได้เท่ากับการผ่าหนึ่งครั้งสามารถทำให้หลอดไฟสว่างได้ถึง 2 นาที หากมนุษย์โดนโดยตรงมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่หากอยู่ในรัศมีอาจได้รับบาดเจ็บและหูหนวกได้

ด้านคนที่ต้องขับรถขณะฟ้าผ่ามีโอกาสได้รับอันตรายน้อย เพราะเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมาบนหลังคารถจะไหลลงไปยังพื้นดิน แต่ในบางรายที่ผู้โดยสารนั่งอยู่ในกระบะหลังกลางแจ้งย่อมทำให้เกิดอันตราย

อ.คมสัน กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ประชาชนทำตามคำ แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะหาก ประสบเคราะห์ร้ายเหล่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง ขณะเดียวกันต้องคอยสอดส่องดูแลบุตรหลานในช่วงที่ฝนตก เพราะเด็กหลายคนชอบออกไปเล่นน้ำฝนกลางแจ้ง

ดังนั้นหากทำความเข้าใจและรู้ถึงแนวทางแก้ไขจากการถูกฟ้าผ่า ย่อมเป็นผลดีต่อการดำรงชีวิตอย่างระมัดระวังจากภัยธรรมชาติ.

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น… ช่วยชีวิตคนถูกฟ้าผ่า

199996_99657

การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกฟ้าผ่าคือ

1. หากหัวใจหยุดเต้น (ตรวจโดยเอาหูฟังที่หน้าอกหรือจับชีพจร) ให้ใช้วิธี นวดหัวใจภายนอก โดยเอามือกดตรงที่ตั้งหัวใจให้ยุบลงไป 3-4 เซนติเมตร เป็นจังหวะ ๆ เท่าจังหวะการเต้นของหัวใจ (ผู้ใหญ่วินาทีละ 1 ครั้ง เด็กเล็กวินาทีละ 2 ครั้ง) นวด 10-15 ครั้ง เอาหูแนบฟังครั้งหนึ่ง

2. หากไม่หายใจ (ตรวจโดยดูการขยายของซี่โครง และหน้าอก) ให้ใช้วิธีเป่าลมเข้าทางปากหรือทางจมูกของผู้ป่วย โดยการเป่าปาก จับผู้ป่วยนอนหงาย ใช้หัวแม่มือง้างปลายคางผู้ป่วยให้ปากอ้าออก หากมีเศษอาหารหรือวัสดุใด ๆ ให้ล้วงออกให้หมด แล้วจับศีรษะให้เงยหน้ามาก ๆ ผู้ช่วยเหลืออ้าปากแล้วประกบกับปากผู้ป่วยให้สนิท และเป่าลมเข้าไปอย่างแรงจนปอดผู้ป่วยขยายออก (ซี่โครงและหน้าอกพองขึ้น) แล้วปล่อยให้ลมหายใจของ ผู้ป่วยออกเอง แล้วเป่าอีก

ทำเช่นนี้เป็นจังหวะ ๆ เท่ากับจังหวะหายใจปกติ (ผู้ใหญ่นาทีละ 12-15 ครั้ง เด็กเล็กนาทีละ 20-30 ครั้ง) ถ้าเป่าปากไม่ได้ให้ปิดปากผู้ป่วยแล้วเป่าเข้าทางจมูกแทน ถ้าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจด้วย ให้นวดหัวใจสลับกับการเป่าปาก ถ้ามีผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียวก็ให้เป่าปาก 2 ครั้ง สลับกับการนวดหัวใจ 15 ครั้ง หรือถ้ามีผู้ช่วยเหลือสองคน ก็ให้นวดหัวใจสลับกับการเป่าปากเป็นทำนองเดียวกัน โดยเป่าปาก 1 ครั้ง นวดหัวใจ 5 ครั้ง การปฐมพยาบาลนี้ ต้องรีบทำทันที หากช้าเกินกว่า 4-6 นาที โอกาสที่จะฟื้นมีน้อย ขณะพาส่งแพทย์ก็ควรทำการปฐมพยาบาลไปด้วยตลอดเวลา.

ศราวุธ ดีหมื่นไวย์

ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์