World Turtle Day วันเต่าโลก

23 พฤษภาคม วันเต่าโลก (World Turtle Day)

Home / วันสำคัญ / 23 พฤษภาคม วันเต่าโลก (World Turtle Day)

รู้หรือไม่? ว่า วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันเต่าโลก (World Turtle Day) โดยองค์กร American Tortoise Rescue ในรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่อนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล ซึ่งทางองค์กรได้เล็งเห็นในเรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับเต่า เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่มีปริมาณและแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่าด้วยค่ะ วันนี้ทาง scoop.mthai จึงอยากนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับเต่ามาฝากเพื่อนๆ ค่ะ

 

วันเต่าโลก (World Turtle Day)
วันเต่าโลก (World Turtle Day)

 

เรื่องราวน่ารู้ของ เต่า

เต่า คือ สัตว์จำพวกหนึ่งในอันดับ Testudines จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลือดเย็น ในชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาแล้วกว่า 200 ล้านปี ซึ่งเต่านั้นถือเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยเต่าจะมีกระดูกที่แข็งคลุมบริเวณหลังที่เรียกว่า “กระดอง” ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ สามารถหดหัว ขา และหางเข้าในกระดองเพื่อป้องกันตัวได้ แต่เต่าบางชนิดก็ไม่อาจจะทำได้ เต่าเป็นสัตว์ที่ไม่มีฟัน แต่มีริมฝีปากที่แข็งแรงและคม ใช้ขบกัดอาหารแทนฟัน

เต่า เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ช้า อาศัยและใช้ช่วงชีวิตหนึ่งอยู่ในน้ำ ซึ่งมีอาศัยทั้งน้ำจืด และทะเล แต่เต่าบางจำพวกก็ไม่ต้องอาศัยน้ำเลย เรียกว่า “เต่าบก” (Testudinidae) ซึ่งเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่ายักษ์กาลาปากอส (Geochelone nigra) ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะกาลาปากอส ในเอกวาดอร์ (มีทั้งหมด 15 ชนิดย่อย) ในขณะที่เต่าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่าอัลลิเกเตอร์ (Macrochelys temminckii) อาศัยอยู่ตามหนองน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ

 

วันเต่าโลก
วันเต่าโลก

 

เต่าทะเล

เต่าจำพวกหนึ่งที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่แต่ในทะเลเพียงอย่างเดียว จะขึ้นมาบนบกก็เพียงแค่วางไข่เท่านั้น โดยที่เท้าทั้งสี่ข้างพัฒนาให้เป็นอวัยวะคล้ายครีบ ซึ่งเต่าทะเลทั่วโลกปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ชนิด ใน 2 วงศ์ 5 สกุล ได้แก่ เต่าหัวค้อน (Caretta caretta), เต่าตนุ (Chelonia mydas), เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea), เต่ากระ (Eretmochelys imbricata), เต่าตนุหลังแบน (Natator depressus), เต่าหญ้าแอตแลนติก (Lepidochelys kempii), เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) โดยที่เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลและเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในน่านน้ำไทยพบได้ถึง 5 ชนิด ไม่พบเพียง 2 ชนิดคือ เต่าตนุหลังแบน และ เต่าหญ้าแอตแลนติก

 

วันเต่าโลก
วันเต่าโลก

 

อาหารของเต่า

เต่า กินอาหารได้ทั้ง พืช และสัตว์ โดยเต่าบางชนิดก็จะกินแต่เฉพาะสัตว์ เช่น เต่าอัลลิเกเตอร์, เต่าสแนปปิ้ง (Chelydra serpentina), เต่าปูลู (Platysternon megacephalum) เป็นต้น

 

วันเต่าโลก
วันเต่าโลก

 

การจำแนกเต่าทั่วโลก แบ่งออกเป็น 12 วงศ์ และในประเทศไทยพบ 6 วงศ์

เต่ากระอาน (Batagur baska)
เต่าลายตีนเป็ด (Callagur borneoensis)
เต่าหับ (Cuora amboinensis) (มี 4 ชนิดย่อย)
เต่าห้วยเขาบรรทัด (Cyclemys artipons)
เต่าใบไม้ (Cyclemys dentata)
เต่าห้วยคอลาย (Cyclemys tcheponensis)
เต่าหวาย (Heosemys grandis)
เต่าจักร (Heosemys spinosa)
เต่าบัว (Hieremys annandalei)
เต่าเหลือง (Indotestudo elongata)
เต่านาหัวใหญ่ (Malayemys macrocephala)
เต่านาอีสาน (Malayemys subtrijuga)
เต่าหก (Manouria emys) (มี 2 ชนิดย่อย)
เต่าเดือย (Manouria impressa)
เต่าปากเหลือง (Melanochelys trijuga)
เต่าทับทิม (Notochelys platynota)
เต่าปูลู (Platysternon megacephalum) (มี 3 ชนิดย่อย)
เต่าจัน (Pyxidea mouhotii)
เต่าดำ (Siebenrockiella crassicollis)
เต่าแก้มแดง (Trachemys scripta elegans) (ไม่ใช่เต่าพื้นเมืองของไทย แต่เป็นของสหรัฐอเมริกา ถูกนำเข้ามาในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ปัจจุบันได้แพร่ขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำจนกลายเป็นสัตว์ประจำถิ่นไปแล้ว)

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  wikipedia