พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

Home / วันสำคัญ / พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2470) เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ขณะนี้ จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่มีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประเทศไทย

 

พระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฎ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

 

พระราชประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ “โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์”

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

 

เสวยราชย์และทรงอภิเษกสมรส

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา

 

ทรงอภิเษกสมรส
ทรงอภิเษกสมรส

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2493 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ทรงพระผนวช

ทรงพระผนวช
ทรงพระผนวช

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวชนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน

 

พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจ

ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี

ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น

 

ด้านการพัฒนาชนบท
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

ด้านการแพทย์
โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระยะแรกล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่างๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้

 

ด้านการศึกษา
พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้นๆ อีกด้วย

 

พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ

พระอิสริยยศ

  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 – ปัจจุบัน)

รางวัล

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและเกียรติยศต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจและพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ ที่สำคัญเป็นต้นว่า

  • ประธานรัฐสภายุโรปและสมาชิกร่วมกันทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรัฐสภายุโรป” (19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519)
  • ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสันติภาพของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลสันติภาพ” (9 กันยายน พ.ศ. 2529)
  • สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณในการนำชนบทให้พัฒนา” (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2530)
  • ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองประกาศพระเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม” (4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535)
  • ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน” (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535)
  • คณะกรรมการสมาคมนิเวศวิทยาเชิงเคมีสากล (International Society of Chemical Ecology) ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ” (26 มกราคม พ.ศ. 2536)
  • หัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด” สดุดีพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ (30 ตุลาคม พ.ศ. 2536)
  • ผู้อำนวยการบริหารของยูเอ็นดีซีพี (UNDCP) แห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย “เหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด” (12 ธันวาคม พ.ศ. 2537)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย