พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาล ที่ 10

Home / วันสำคัญ / พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาล ที่ 10
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

28 กรกฎาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495

วันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งวันนี้ทาง Scoop.mthai จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ และความสำคัญของพระองค์ท่านกันครับ

 

พระราชประวัติ

พระนามเต็ม รัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. มีพระเชษฐภคินีคือทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

 

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495

เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ

 

ด้านการศึกษา

ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 จนถึง พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เทศมณฑลซัสเซกซ์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟีลด์ เทศมณฑลซัมเมอร์เซต ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513 โดยในระหว่างที่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พระองค์ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นการซักฉลองพระองค์ หรือขัดรองพระบาท โดยไม่มีบุคคลอื่นให้ความช่วยเหลือ เฉกเช่นสามัญชนทั่วไป หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จแล้ว ทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2519

เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และ พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

 

ราชาภิเษก

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4–6 พฤษภาคม 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และมีพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ในเวลาไล่เลี่ยกัน วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 พระองค์มีพระราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พลเอกหญิง ท่านผู้หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี

 

พระราชกรณียกิจ

ทางราชการ

  • ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ เมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย
  • ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด
  • 9 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบกกระทรวงกลาโหม
  • 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 9 มกราคม พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นส่วนราชการในพระองค์

 

 

ด้านการบิน

  • 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี/เอฟ
  • พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร)

ด้านการศึกษา

พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชิ่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมา โรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พระองค์มีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน

ด้านศาสนา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ มีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา,วันวิสาขบูชา,วันอาสาฬหบูชา,วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ เป็นต้น

ด้านการเกษตร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2528

 

– ขอขอบคุณข้อมูลจาก : wikipedia –