วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน

Home / วันสำคัญ / วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 25 เมษายน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะ ที่ 7 (ฝ่ายกฎหมาย) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานที่เห็นชอบกำหนดให้ วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็น วันรัฐพิธีแทนวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 โดยให้มีการวางพวงมาลาสักการะและไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และกำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี เป็นวันยุทธหัตถี เป็นวันรัฐพิธี แทนวันที่ 25 มกราคมของทุกปี

โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะและไม่ถือเป็นวันหยุดราชการตามที่คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ เสนอเรื่องนี้ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้พิจารณาการกำหนดวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตามจันทรคติ (ถือตามขึ้นแรม) เป็นวันรัฐพิธีนั้น เห็นว่าคนไทยปัจจุบันเคยชินกับวันทางสุริยคติซึ่งได้กำหนดวันที่ตายตัว และจะไม่ค่อยรู้จักหรือพูดถึงวันขึ้นแรมทางจันทรคติ การคำนวณวันทางสุริยคติในแต่ละปีโหรหลวงจะเป็นผู้คำนวณและประกาศให้ทราบโดย ทั่วไปว่าวันทางจันทรคติในปีนั้นๆ จะตรงกับวันทางสุริยคติวันใด ดังนั้นวันสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสมควรใช้เป็นวันทางสุริยคติจะเหมาะ สมกว่า จึงมอบหมายนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต คำนวณแล้วปรากฎผล  ดังนี้

1.   วันเสร็จสวรรคตทางจันทรคติตามที่ระบุในพระราชพงศาวดาร คือ วันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ จ.ศ. 967 ซึ่งในปี พ.ศ. 2148 ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2148

2.   วันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะราชศัตรูหรือวันยุทธหัตถีทางจันทรคติตาม ที่ระบุในพระราชพงศาวดารคือ วันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จ.ศ. 95 ตรงกับวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2135

3.   การประกาศให้วันที่ 18 มกราคม เป็นวันยุทธหัตถี จะตรงต่อความเป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกต้อง โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อวันที่ 25 มกราคม ซึ่งเป็นวันกองทัพไทย เพราะว่ากองทัพสามารถจะแสดงความรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงกระทำ ยุทธหัตถีชนะในวันใดก็ได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ถึงการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ว่า ใน พ.ศ. 2147 ในสงครามอังวะ เมืองอังวะได้บุกรุกเข้ามายังเมืองนายและ เมืองแสนหวี พระองค์ทรงได้กรีธาทัพพร้อมสมเด็จพระเอกาทศรถไปยังเมืองเชียงใหม่ โดยแยกออกเป็นสองทาง สมเด็จพระเอกาทศรถยกทัพไปทางเมืองฝาก ส่วนพระองค์ยกทัพไปทางเมืองหาง

แต่ในขณะที่พระองค์ทรงประทับแรมที่ทุ่งแก้ว ได้เกิดประชวรเป็นหัวละลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์จนเป็นพิษ ถึงกับเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 พระชนมพรรษา 50 พรรษา เสด็จอายุในราชสมบัติ 15 ปี

ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี